ก้าวสู่ศาสตร์การถ่ายภาพ ของ เอเตียน-ฌูล มาแร

เอดเวิร์ด มายบริดจ์ ช่างภาพชาวอังกฤษเป็นผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาแรสนใจในศาสตร์การถ่ายภาพ ภาพถ่ายของมายบริดจ์ที่ถูกจัดแสดงต่อสาธารณชนในปารีสนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาแรเริ่มค้นหาวิธีการถ่ายภาพที่สามารถจับภาพการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ถ่ายได้ เขาสนใจและได้พัฒนาการถ่ายภาพที่ดูสมจริงไปสู่การถ่ายภาพอีกแขนงหนึ่งแบบที่เรียกว่า การถ่ายภาพต่อเนื่องในช่วงเวลา หรือ chronophotography ในปี ค.ศ. 1880 ความคิดอันแตกต่างหรือการปฏิวัติทางความคิดของเขาได้ถูกบันทึกเป็นส่วนหนึ่งในกระแสความเคลื่อนไหวของวงการ การถ่ายภาพ ในปี ค.ศ. 1890 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือชุดสำคัญและให้ชื่อว่า Le vol des oiseaux (การบินของนก) ที่เต็มไปด้วยภาพถ่าย ภาพวาด และแผนภาพ นอกจากนี้เขายังได้สร้างประติมากรรมที่แสดงการบินแบบต่างของนกอันน่าทึ่ง และมีความถูกต้องแม่นยำ

ภาพการเคลื่อนไหวของนกกระทุง โดยมาแร ในปี ค.ศ. 1882

มาแรได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของสัตว์อื่น ๆ อีกเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1873 เขาตีพิมพ์เรื่อง "กลศาสตร์ของสัตว์" ซึ่งเอดเวิร์ด มายบริดจ์ ได้ตรวจสอบภาพถ่ายของมาแร และสนับสนุนเขาเรื่องช่วงเวลาในการควบม้า ซึ่งจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่กีบม้าจะยกลอยขึ้นจากพื้นหมดทั้งสี่ข้าง

มาแรคาดหวังที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องกายวิภาคศาสตร์กับเรื่องสรีรวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ดีมากขึ้น เขาได้เปรียบเทียบด้วยภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องของกายวิภาคศาสตร์ ระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์ที่คล้ายกัน มาแรได้สร้างชุดภาพวาดที่แสดงภาพตอนม้ากำลังวิ่งเหยาะ ๆ และเวลาขณะควบม้า โดยภาพแรกแสดงให้เห็นแบบที่มีเลือดเนื้อ ส่วนอีกภาพเป็นภาพโครงกระดูก ซึ่งทั้งสองภาพเป็นภาพในช่วงขณะเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้มาแรได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นอีกด้วย ซึ่งภาพยนตร์ทั้งหมดได้ถูกบันทึกด้วยความเร็วสูงถึง 60 ภาพต่อวินาที เช่นผลงาน Falling Cat ซึ่งเขาได้ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวของแมวที่กำลังลงสู่พื้นด้วยปลายเท้า ต่อมาเขาได้ทำการศึกษาสิ่งที่คล้ายกันนี้กับไก่และสุนัข ก็พบว่าสัตว์ทั้งสองนี้สามารถทำได้เหมือนกัน การค้นคว้าเรื่องการจับภาพและการแสดงภาพเคลื่อนไหวของเขานั้น ช่วยให้วงการการฉายภาพยนตร์เป็นที่รู้จัก